ขับเคลื่อนโดย Blogger.
RSS

ประวัติ รพ.สต.บ้านขาว


บริบททั่วไปของพื้นที่

ข้อมูลสภาพแวดล้อมทั่วไปของหน่วยบริการปฐมภูมิ




. สภาพพื้นที่

                ๑.๑ ประวัติความเป็นมาของตำบลบ้านขาว
     ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลตะเครียะ    อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งตำบลตะเครียะเป็นตำบลที่มีพื้นที่กว้างขวางมากยากแก่การปกครอง การติดต่อของราษฎรและด้านการประสานงานของทางราชการ   ต่อมาทางสภาตำบลตะเครียะได้ตกลงกันในที่ประชุมเพื่อแบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ตำบล จึงได้แบ่งแยกเขตการปกครองมาเป็น "ตำบลบ้านขาว" เมื่อวันที่ ๑ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ โดย
            หมู่ที่ ๑ เดิมคือ หมู่ที่ ๕ ตำบลตะเครียะ
            หมู่ที่ ๒ เดิมคือ หมู่ที่ ๖ ตำบลตะเครียะ
            หมู่ที่ ๓ เดิมคือ หมู่ที่ ๗ ตำบลตะเครียะ
            หมู่ที่ ๔ เดิมคือ หมู่ที่ ๘ ตำบลตะเครียะ
            หมู่ที่ ๕ เดิมคือ หมู่ที่ ๙ ตำบลตะเครียะ
            หมู่ที่ ๖ แยกออกจาก  หมู่ที่ ๑ บ้านหัวป่า  ตำบลบ้านขาว  เมื่อ วันที่  ๑ เมษายน ๒๕๓๑
คำว่า  "บ้านขาว"  มาจากชื่อของหมู่บ้านที่มีราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่นและตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของตำบล คือ บ้านขาว
ประวัติความเป็นมาของบ้านหัวป่า หมู่ที่ ๑ และ ๖ ตำบลบ้านขาว
    
บ้านหัวป่า  เดิมเป็นที่รกร้าง  เป็นป่าพรุ  ป่ากก ป่าไม้เทียะ ป่าเสม็ด ป่ากุม ในป่าพรุมีก้อนหินตั้งซ้อนทับกันเป็นจำนวนมากเรียกว่า ดอนหิน ในทางตะวันออก เรียกดอนพวา ตามชื่อคลองดอนพวา ผู้ที่เข้ามาบุกเบิกคาดว่าจะมาจากโรง  และตะเครียะ  ยังไม่แน่ชัดว่าคือใคร  และมีอาจารย์ทองใหม่ พรรณราย เป็นผู้รวบรวมราษฎรมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำมาหากินอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาขุนแก้ว รัตนาราช ซึ่งเป็นชาวพัทลุงได้อพยพเข้ามาทำมาหากิน   เห็นว่าพื้นที่ริมทะเลสาบทางทิศตะวันตกของชุมชนดอนพวา มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร  จึงชักชวนพวกพ้วง  (ส่วนหนึ่งมาจากทะเลน้อย) มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอีกชุมชนหนึ่ง เรียกชุมชนนี้ว่า  บ้านหัวป่า  เพราะอยู่ใกล้ป่าทางทิศตะวันตก จากนั้นก็มีผู้อพยพตามท่านขุนแก้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   จนขยายมาถึงดอนพวาทางทิศตะวันออก   จนรวมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน  เรียกว่า  บ้านหัวป่า  เพราะมีหัวป่าบ้านเรือนราษฎรหนาแน่นกว่า   (ชื่อดอนพวาก็ค่อยๆหายไป)   บ้านหัวป่ามีช้างแกลบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก   ชอบมากินข้าวของชาวนา ราษฎรมีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก  โดยทำปีละครั้ง และหาปลาเพื่อเลี้ยงครอบครัว เดิมบ้านหัวป่าคือหมู่ที่ ๙ ของตำบลตะเครียะ  เมื่อแยกเป็นตำบลบ้านขาว ก็เป็นหมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านขาว ในสมัยของกำนันเพียร ศรีวิเชียร และต่อมากำนันเพียร ต้องการให้การปกครองแคบลงง่ายแก่การปกครอง จึงแยกบ้านหัวป่าออกเป็น ๒ หมู่คือ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวป่าออก และ หมู่ที่ ๖ บ้านหัวป่าตก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๑
      
บ้านหัวป่า มีวัดที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของราษฎรบ้านหัวป่า และหมู่บ้านใกล้เคียงมาเป็นเวลาช้านาน คือวัดหัวป่า  หากจะกล่าวถึงพระเถราจารย์ที่เป็นผู้ทรงวิทยาคมเรืองวิทยาเวทย์บำเพ็ญตนในเพศสมณะที่สมบูรณ์ด้วยศีลาจริยาวัตรอันงดงาม ประกอบด้วยวัตรปฏิบัติอันสมถะสันโดษ  ปราศจากมลทินใดๆ พลังจิตแก่กล้าด้วยเมตตาธรรม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรครองจิตใจผู้คนทั่วไป พุทธศาสนิกชนต่างทราบเกียรติประวัติของพระเถระรูปหนึ่งเป็นอย่างดี พระเถระรูปนี้ คือ  พระครูพิศิษฐ์บุญสาร  หรือหลวงพ่อปลอด ภาษาถิ่น คือ "พ่อท่านปลอด" แห่งวัดหัวป่า ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
     
วัดหัวป่า เดิมชื่อ วัดดอนพวา ด้วยเหตุที่ที่ตั้งวัดอยู่บนฝั่งขวาของคลองดอนพวา (คลองวัดปัจจุบัน) ซึ่งแต่เดิมสังกัดกับเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ โดยขุนแก้ว รัตนาราช นายอำเภอสมัยนั้นให้ขุนแก้ว  รัตนาราช  เป็นหัวหน้าจัดการก่อตั้งร่วมกับพระอุปัชฌาย์วัตร  ผู้บริจาคที่ดิน จำนวน ๑๒ ไร่กว่าๆ ในการสร้างวัด คือ อาจารย์ทองใหม่ พรรณราย ซึ่งเป็นน้องชายของขุนแก้ว รัตนาราช นั้นเอง  เดิมหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของวัดที่มีชื่อเรียกกัน  ๒ ตอน ตอนตะวันออก เรียกว่า "บ้านหัวป่า" เหตุที่เรียก บ้านหัวป่า เพราะว่ามีบ้านเรือนราษฎรหนาแน่นกว่าและเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ การย้ายสังกัดของวัดมาขึ้นกับเขตจังหวัดสงขลา  เจ้าคุณพระเทพเมธี เจ้าคณะจังหวัดสงขลาขณะนั้น จึงให้เรียกชื่อเสียใหม่ตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดหัวป่า ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งบัดนี้
ประวัติความเป็นมาของบ้านล่องลม-เสาธง หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านขาว
    
บ้านล่องลม-เสาธง เดิมเป็นป่าพรุ ป่ากก พื้นที่ราบลุ่ม มีช้างแกลบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้มีการขุดพบซากเรือโบราณพร้อมด้วยเสากระโดงเรือ ราษฎรจึงนำมาใช้เป็นเสาธง และได้เรียกว่า บ้านเสาธง ต่อมาได้หล่อเสาธงใหม่ทำด้วยปูน เสาธงต้นเดิมนำไปใช้ที่โรงเรียนวัดบ้านขาว และย้ายไปที่โรงเรียนวัดคูวา ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว คาดว่าคงชำรุดมาก
      
ทวดนะ ศิรินุพงศ์ เป็นผู้บุกเบิกได้อพยพมาจากตำบลโรง (อำเภอกระแสสินธุ์ในปัจจุบัน) จากนั้นก็มีราษฎรอพยพมาจากพัทลุงด้วย ส่วนใหญ่ก็เป็นคนตะเครียะเดิม เนื่องจากบ้านล่องลม-เสาธงนี้ เดิมเป็น หมู่ที่ ๖ ของตำบลตะเครียะ เมื่อเริ่มมีหลายครอบครัว มีลูกมีหลานก็แต่งงานกันภายในหมู่บ้าน ก็เริ่มมีครัวเรือนมากขึ้น
      ราษฎรมีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก โดยทำปีละครั้ง ภายหลังเมื่อมีชลประทานก็ทำปีละ ๒ ครั้ง ต้องต่อสู้กับช้างแกลบซึ่งมีจำนวนมาก  และมักจะเข้ามากินข้าวและพืชผักของชาวนา แต่ราษฎรเองก็ชอบล่าช้างเหมือนกันบอกกันว่าเนื้อช้างอร่อยไม่เหนียวเหมือนเนื้อวัว และครั้งใดที่มีการล้มช้างได้ ทุกคนสามารถมาแร่เนื้อช้างเอาไปกินได้  และช้างหนึ่งตัวก็กินกันได้ทั้งหมู่บ้าน  เมื่อมีคนมาอาศัยเพิ่มขึ้น ช้างก็เริ่มน้อยลง  บ้างก็บอกว่าอพยพไปทางฝั่งพัทลุงบ้างไปทางนครศรีธรรมราชบ้าง   สูญพันธุ์เพราะโดนล่ามากๆบ้าง  ปัจจุบันไม่มีช้างแกลบอีกแล้ว  คงเหลือแต่ซากกระดูกที่ขุดพบบ้างเป็นแห่งๆ   บ้านล่องลม-เสาธง  ยังมีโคกข่อยซึ่งเป็นที่รกร้าง  คาดว่าจะเป็นสำนักสงฆ์ หรือวัดเก่า มีการขุดพบซากของเก่าประเภทถ้วย  ชามกระเบื้อง  เครื่องปั้นดินเผา  ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ของชุมชนมาแล้ว   ปัจจุบันก็เป็นที่ดินสาธารณะประมาณ ๖ ไร่  ในหมู่บ้านไม่มีวัด  ราษฎรจึงไม่ค่อยได้ไปวัดนอกจากเทศกาลสำคัญจึงจะเดินทางไปวัดบ้านขาวบ้าง วัดหัวป่าบ้าง
ประวัติความเป็นมาของบ้านขาว หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านขาว
     
บ้านขาว เดิมเป็นป่ากำ ป่าพรุ มีเนินทรายสีขาวทอดยาวตลอดแนวด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน จึงเรียกว่า "บ้านขาว" บางคนก็บอกว่ามีการปลูกข้าวเยอะ เรียกว่าบ้านข้าว  แต่เพี้ยนมาจนเรียก บ้านขาว  นายนะ ศิรินุพงศ์  มาจากโรง ,  นายกรด ศิรินุพงศ์ ,  นายลาย เทพไชย เป็นผู้บุกเบิก เริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่ มีการขุดพบโคกโบสถ์ เป็นเนินดินเขตพัทธสีมาของโบสถ์เก่าแก่ และเชื่อกันว่า พระครูอิน พระครูจัน ซึ่งเป็นก้อนหิน ๒ ก้อน  ที่ขุดพบบริเวณดังกล่าว  มีการสลักชื่อว่า อิน และจัน เป็นเจ้าของโบสถ์เดิม  จากนั้นเมื่อเริ่มมีการอพยพของราษฎรเพิ่มขึ้นจากบ้านหัวป่า จากตะเครียะ จึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นมาใหม่บริเวณโคกโบสถ์เดิม ช่วยกันหาไม้มาสร้างวัด จากบริเวณใกล้ๆบ้าง จากพัทลุงบ้างจนสำเร็จ และนิมนต์พระมาอยู่ประจำ เรียกว่าวัดบ้านขาว และนับถือพระครูอิน พระครูจัน มาจนปัจจุบัน
      จากป่ากำ    ราษฎรก็ได้ถางป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำนา     และยึดอาชีพการทำนามาตลอด บริเวณบ้านขาวนี้ก็มีช้างแกลบเยอะไม่แพ้บ้านอื่นๆ     ช้างก็มากินข้าวของชาวนาและต้องต่อสู้กับช้างเช่นกัน  ราษฎรส่วนใหญ่ก็เป็นคนตะเครียะเดิม   เนื่องจากเป็น หมู่ที่ ๗ ของตำบลตะเครียะ เมื่อเริ่มมีหลายครอบครัว ก็แต่งงานกันภายในหมู่บ้าน ทำให้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

ประวัติความเป็นมาของบ้านคูวา หมู่ที่ ๔ และ ๕ ตำบลบ้านขาว
     บ้านคูวา เดิมเป็นป่าต้นกำ มีโคกดิน เรียกว่าโคกคูวา มีคูน้ำขนาดไม่กว้าง ไม่ยาว ประมาณวาเศษๆ น่าจะเป็นขนาดของความกว้าง มีมาบหลายมาบ ลักษณะของมาบคือ ลำน้ำแคบๆ แต่ลึกและยาว คล้ายลำห้วยเล็กๆ แต่ลักษณะเด่นคือคูน้ำ  จึงเรียกว่าบ้านคูวา  มีช้างแกลบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก    นายชู ชูมนต์ เป็นผู้เข้ามาบุกเบิกโดยอพยพมาจากบ้านขาว (หมู่ที่ ๓ ในปัจจุบัน) ต่อมาก็มี นายผอม นายชู ได้อพยพมาอีกคาดว่ามาจากศาลาธรรม์ ตำบลบ้านใหม่ ตอนนั้นมีครัวเรือนแค่ ๒-๓ ครัวเรือน ต่อมาก็มีอีกหลายครัวเรือนอพยพเข้ามาเพิ่ม เมื่อมีลูกมีหลานก็แต่งงานกันภายในหมู่บ้าน และเริ่มมีครัวเรือนมากขึ้น
ในสมัยที่ยังเป็นตำบลตะเครียะ บ้านคูวาคือหมู่ที่ ๘ และหมู่ที่ ๙ ของตำบลตะเครียะ ต่อมาเมื่อแยกเป็นตำบลบ้านขาว ก็เป็นหมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านขาว
       ราษฎรมีอาชีพทำนามาตั้งแต่เริ่มบุกเบิก มีการสานเสื่อกระจูดบ้างเพื่อใช้ในครัวเรือน และขายบ้างเล็กๆน้อยๆ การทำนาจะทำปีละครั้ง ในสมัยนั้นยังไม่มีชลประทาน ระยะหลังเริ่มทำนาปีละ ๒ ครั้ง ก่อนที่จะมีชลประทาน     อาศัยเสี่ยงกับธรรมชาติเพราะฝนยังตกตามฤดูกาล  พอมีชลประทานก็ทำนาปีละ ๒ ครั้งตลอด ปัญหาอีกอย่างคือต้องต่อสู้กับโขลงช้างแกลบที่ชอบเข้ามากินข้าวของชาวนา มีหลายคนที่โดนช้างแกลบเหยียบจนตาย แต่ราษฎรเองก็ชอบล่าช้างเหมือนกันบอกกันว่าเนื้อช้างอร่อยไม่เหนียวเหมือนเนื้อวัว และครั้งใดที่มีการล้มช้างได้   ทุกคนสามารถมาแร่เนื้อช้างเอาไปกินได้    และช้างหนึ่งตัวก็กินกันได้ทั้งหมู่บ้าน   เมื่อมีคนมาอาศัยเพิ่มขึ้น ช้างก็เริ่มน้อยลง บ้างก็บอกว่าอพยพไปทางฝั่งพัทลุงบ้างไปทางนครศรีธรรมราชบ้าง สูญพันธุ์เพราะโดนล่ามากๆบ้าง ปัจจุบันไม่มีช้างแกลบอีกแล้ว คงเหลือแต่ซากกระดูกที่ขุดพบบ้างเป็นแห่งๆ
       พอเริ่มมีราษฎรมาอาศัยหลายครัวเรือน    แต่ยังไม่มีวัดในหมู่บ้าน ครั้นถึงเทศกาลทำบุญต้องเดินทางไปวัดไกลๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีถนนเหมือนกัน นายชู ชูมนต์ ก็เริ่มคิดจัดสร้างวัดสำหรับหมู่บ้าน โดยได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านช่วยกันหาไม้ หาจากสำหรับมุงหลังคา อุปกรณ์ต่างๆ เรี่ยไรเงิน ออกแรง เพื่อช่วยกันสร้างวัดสำหรับหมู่บ้าน   ที่ดินที่ตั้งวัดก็ได้รับการบริจาคโดย นายคงแก้ว คงทอง และได้ติดต่อกับหลวงพ่อติ้น ซึ่งเป็นพระภิกษุที่วัดอื่น   หลวงพ่อติ้นก็รับจะนิมนต์พระมาจำพรรษาให้ ใกล้วันเข้าพรรษาพอดี ทุกคนพร้อมใจกัน ทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังกายสร้างกุฏิสำหรับพระ จำนวน ๙ หลัง    และได้นิมนต์พระมาจำพรรษาจำนวน ๙ รูป จากนั้นอีกเจ็ดวันก็ได้สร้างโรงธรรมชั่วคราวและโรงครัวจนเสร็จ ช่วยกันสร้างทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็มีการฉลอง มีทั้งมโนราห์ หนังตะลุง  ทุกคนที่มาดูก็ถือเสียม    และจอบ ช่วยกันทำถนนต่ออีก โดยได้นายชู ชูมนต์ เป็นหัวหน้าคอยควบคุมการทำงาน
       หลวงพ่อติ้น ก็ได้มอบหมายให้พระฉ้วน จิตตสังวะโร   เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์อยู่ประจำวัดคูวากับพระอื่นอีกรวมเป็น ๙ รูป    จากนั้นตัวท่านก็ไปประจำที่วัดโคกสูง  พระฉ้วนได้พัฒนาวัดอยู่เรื่อยๆ ทำให้วัดน่าอยู่ยิ่งขึ้น ในพรรษาต่อๆมา มีพระบวชเพิ่ม  บวชใหม่ทุกๆปี  ท่านเปิดสอนธรรมะแก่ศิษย์ทั้งหลายซึ่งศิษย์คนใดเรียนดี ท่านก็จะส่งเรียนต่อไม่ว่าจะเป็นทางโลก  หรือทางธรรม ด้วยความดีของท่านและการที่ท่านสนับสนุนศิษย์จนได้ดี ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระครู   ครั้นโรงธรรมชั่วคราวทรุดโทรมลงมาก    ท่านก็ได้แจ้งยังราษฎรที่มีใจศรัทธา ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงธรรมใหม่     ทุกคนก็พร้อมใจ และได้สร้างโรงครัวใหม่ด้วย พอถึงเวลาก็มีการฉลองอย่างสนุกสนาน ใน ๒ ปีต่อมาด้วยความศรัทธาในท่านพระครูฉ้วน  ราษฎรก็ได้ร่วมกันสร้างโบสถ์จนสำเร็จอีก วัดคูวาเป็นวัดประจำหมู่บ้านที่ราษฎรใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่พบปะ ร่วมกันทำบุญ จนถึงปัจจุบัน

ตำนานช้างทุ่งหรือช้างแกลบ
     ตำบลบ้านขาว (ตั้งแต่ยังเป็นอาณาเขตของตำบลตะเครียะ) อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่บ้านหัวป่าตก บ้านเสาธง บ้านล่องลม บ้านขาว บ้านพรานและบ้านคูวาตก ในบริเวณนี้การทำนาข้าวค่อนข้างจะเสี่ยง ทำข้าวพื้นเมือง (นาปี) ปีไหนฝนตกน้ำท่วมมากข้าวจะเสียมาก
ปีไหนฝนตกพอดีน้ำไม่มากนักหากทำนาในโซนนี้จะได้ผลดีมาก   และทางทิศตะวันตกของบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่ม เรียกว่า ป่าพรุ เป็นป่าพงหญ้า ได้แก่ กก ปรือ ราโพ กัลปหะ และป่าไม้น้ำ เช่น ไม้จิก ไม้เมา ไม้เถียะและไม้อื่นๆ อีกหลายพันธุ์  ปัจจุบันไม้เหล่านี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว   คงเหลือไม้เสม็ดที่เจ้าหน้าที่อนุรักษ์นำมาปลูกไว้เป็นหย่อมๆ ส่วนการทำนาข้าวในบริเวณป่าพรุนี้ยังไม่ได้ผลเพราะเป็นที่ดินเปรี้ยว   เจ้าของที่เขาจับจองที่ดินไว้ก็ขุดบ่อให้ปลาลงอยู่และจับในเวลาน้ำแห้ง บางรายก็ปลูกกระจูดสานเสื่อปูนอนเป็นอาชีพเสริม
     สมัยก่อนยังไม่มีคนเข้าไปอยู่อาศัย   เป็นที่อยู่ของ  ช้าง  กวาง เสือ หมูป่า ซึ่งมีชุกชุมมาก ไม่เฉพาะแต่ตำบลบ้านขาว รวมทั้งตำบลตะเครียะและตำบลใกล้เคียง   ช้างที่พบในบริเวณนี้เป็นช้างที่มีขนาดเล็ก  โดยมีขนาดใหญ่กว่าควายตัวโตๆเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ช้างที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปมากมายหลายชื่อ อาทิ ช้างแคระ ช้างค่อม   ช้างแกลบ  ช้างนกยางขี่ ช้างหระ ช้างทุ่ง ช้างพรุ เป็นต้น สังเกตได้จากนาเกือบทุกท่อน ทุกแปลง  จะมีหนอง  หรือบึง เกือบจะทุกแปลง   เพราะช้างมันแปลงปลักตัวลงให้ลึกน้ำจะได้ลงไปขังมันจะได้ลงไปนอนกันยุงกัด   หนองไหนใหญ่และลึกช้างมันก็รวมกันเป็นฝูงลงนอน   ที่เป็นลูกหนองลูกบึงเล็กๆ ช้างตัวที่สังคมรังเกียจเพื่อนไม่ให้เข้าฝูง   ก็ต้องดิ้นรนปลักแปลงส่วนตัวอยู่ข้างๆ สำหรับหนองที่ใหญ่ๆ ต้องมีทางขึ้นลงของช้าง ชาวบ้านเรียกว่า มาบ  ถ้ามันลงทางไหนก็ขึ้นทางนั้น ถ้าผิดทางมันตกหล่มโคลน จนปรากฏการเรียกชื่อสัตว์ต่างๆ คู่กับบ้านหรือหนอง อาทิเช่น บ้านคำเสือ หนองจระเข้ตาย หนองจระเข้ไข่ หนองกวางตาย หนองแปลงหมู หนองหัวช้าง หนองช้างตาย  (บริเวณตำบลตะเครียะปัจจุบัน)  เหล่านี้เป็นต้น และบริเวณคลองตะเครียะเมื่อครั้งยังไม่มีผู้คนมาอยู่ก็เป็นทางเดินของช้าง ซึ่งหนียุงกัดลงไปนอนในทะเลเมื่อมันขึ้นลงหลายๆ เที่ยวก็เป็นทางน้ำไหลในฤดูฝน และน้ำกัดกร่อนจนลุ่มลึกเป็นคลองได้  สมัยก่อนคูคลองหนองบึงไม่มีใครขุด นอกจากธรรมชาติสร้างให้มา ช้างกับจระเข้มีส่วนช่วยให้มนุษย์เราได้ประโยชน์กับมันไม่น้อยทีเดียว ตัวอย่างหนองน้ำในนาทุกแปลงช้างมันแปลงปลักนานๆ เข้าบ่อก็ลึกลงตะกอนโคลนไหลลงมาก ช้างมันจะเลิกลงนอนเพราะกลัวจะตกตมขึ้นไม่รอด ต้องไปแปลงที่อื่นอีกหนองจึงมีทั่วทั้งทุ่ง    เมื่อช้างไม่ลงนอนในหนองก็เป็นโอกาสของจระเข้ลงไปอยู่จับปลากินอย่างสบาย ในหนองที่โคลนตมตกตะกอนมากๆ จระเข้มันจะเอาหางของมันปักลงในดิน แล้วใช้ลำตัวหมุนรอบๆ กวาดให้โคลนตมขึ้นข้างหนอง  ทำให้หนองนั้นลึกลงกว่าเดิมปลาก็ลงไปอยู่มันก็จับกินอย่างโอชะ คนก็มีผลพลอยได้กับมัน ถึงฤดูแล้งน้ำแห้งมันก็หนีลงคลองออกทะเล  คงทิ้งผลงานที่มันทำไว้คือปลาชุกชุมอุดมสมบูรณ์ให้กับมนุษย์ในสมัยโน้น
     ต่อมาเมื่อชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องมากเข้า   ช้างและสัตว์ต่างๆ  ก็ถอยร่นไปอยู่ทางทิศเหนือ  บ้านหนองอ้ายแท่น มาบบอน หนองปิด และบ้านหนองถ้วย  สมัยนั้นเป็นทุ่งพงหญ้านานาชนิดสูงท่วมช้าง ที่ดินก็เป็นโคลนตม เมื่อช้างถอยร่นไปทางทิศเหนือ ชาวบ้านก็ออกไปจับจองที่ดินแถบทุ่งหนองอ้ายแท่น(ตำบลตะเครียะ)ทำนากันเต็มไปหมด   แต่ต้องต่อสู้กับช้างอยู่นานหลายปีกว่ามันจะถอยร่นลงไปเรื่อยๆ   มาถึงตำบลบ้านขาว อยู่อีกหลายปี ชาวบ้านขาวต้องต่อสู้ต่ออีกหลายปีเช่นกัน ที่ดินจึงเป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานจนทุกวันนี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นปีที่ฝนตกหนักมากเจ็ดวันเจ็ดคืน   น้ำท่วมใหญ่ วัวควาย  ต้องอพยพหนีน้ำไปขึ้นควนชลิกเนื่องจากที่อื่นท่วมหมด ใครไม่พาไปก็ไว้บนเรือน มิฉะนั้นตายหมด  ปีนั้นช้างที่มันไม่ไปพึ่งควนชลิก   ต้องลอยน้ำไปขึ้นควนพนางตุงบ้าง บางคนว่าไปขึ้นลำปำบ้าง ที่ตายก็หลายตัว
เขาให้ชื่อปีนั้นว่า ปีช้างลอย สัตว์อื่นๆ เช่น  เสือ  กวาง  หมู  ได้ลดจำนวนหรือร่อยหรอจากทุ่งนี้ไปเมื่อปีช้างลอยนี่เอง
      การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับช้างเป็นมาอย่างต่อเนื่อง    ในสมัยนั้นต้องต่อสู้กับช้างตั้งแต่ข้าวเริ่มท้องจนเก็บเกี่ยวเสร็จและขนไปบ้านจึงจะปลอดภัย  บางครั้งช้างก็มาขโมยข้าวถึงบ้าน  โดยธรรมชาติของช้างจะลักขโมยเก่ง เวลามันจะไปลักขโมยกินอะไรของคนมันจะไม่ให้มีเสียงดังเลย  มีครั้งนึงในเดือนเมษายน   ฝนแล้งดินแตกระแหงทั่วทุ่ง ชาวนาก็จุดซังข้าวกันหมด  ไฟก็ไหม้ลามไปทั่วทุ่ง   จะเป็นเพราะเหตุใดไม่มีใครทราบเวลาตอนบ่าย มีช้างโขลงหนึ่งประมาณ ๓๐ เชือก  ได้พากันขึ้นมาในเขตทุ่งต้นข่อย  ขั้นแรกชาวบ้านเสาธง  บ้านล่องลมซึ่งอยู่ชายพรุเห็นก่อน ต่อมาคนในบ้านตะเครียะก็เห็นจึงชวนกันออกไปสมทบด้านตะวันตกเต็มไปหมด  ชวนกันโห่ร้องต้อนให้มันขึ้นไปทางบ้านตะเครียะให้ได้ มันก็ไปกันทั้งโขลง  มีแม่พังเคราะห์ร้าย ๑ ตัวถูกสกัดไว้  ได้ตกลงไปในคูหัวถลำลงไปครึ่งตัวจะถอดถอนตัวเท่าไรก็ถอนไม่ขึ้น เป็นโอกาสของคนที่ล่ามันมาถึง ก็เอาพร้าบ้าง ขวานบ้าง มาสับฟันเชือดเฉือนเอาเนื้อที่ตะโพกช้างที่ยังไม่จมน้ำ พริบตาเดียวหมด ชาวบ้านชอบกินเนื้อช้าง บอกว่าเนื้ออร่อย นอกจากนี้การเดินทางไปมาชาวบ้านมักจะเจอโขลงช้างก็ต้องคอยหลบ หรือไม่ก็กลับไม่เดินทางต่อรอจนกว่าช้างจะเปลี่ยนเส้นทางไปเสียก่อน
     ในสมัย นายเลื่อน แกล้วทนงค์   (กำนันตำบลตะเครียะ)    ยังเป็นคหบดีที่ตำบลป่าพะยอม  อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ท่านเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีคนรักใคร่นับถือท่านกว้างขวางมาก  ได้ขออนุญาตเป็นทางการตั้งเพนียดจับช้างป่าขึ้นที่ทุ่งคอกช้าง ตำบลพนางตุง  ช้างที่จะจับนี้ก็คือช้างที่ข้ามไปมาระหว่างคลองนางเรียมกับทุ่งตะเครียะนี่เอง กล่าวคือพอทุ่งหญ้าที่มันชอบกินหมดหรือร่อยหรอมันก็ข้ามไปข้ามมาเป็นประจำ พอถึงวันจับมีประชาชนไปดูกันเป็นพันๆคน เมื่อจับได้แล้วปรากฏว่าช้างเลี้ยงไม่เชื่อง เมื่อตกปลอกใส่ลงหัว มันไม่ยอมกินน้ำกินอาหาร จึงค่อยๆซูบผอมลงจนตายหมด   ช้างเหล่านี้คาดว่าได้สูญหายไปจากบริเวณรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาเมื่อราวๆ ๖๐-๗๐ ปีมานี้เอง
     ทุ่งต้นข่อย   ชุมชนประวัติศาสตร์     เมื่อก่อนเคยมีผู้คนอาศัยกันหนาแน่น    สังเกตจากซากปรักหักพังและกระเบื้องถ้วยชาม เครื่องปั้นดินเผา เช่น โอ่งน้ำ ไห เนียง รวมทั้งที่เป็นเครื่องลายครามสีสดสวยมาก แต่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้เราเห็นเป็นหลักฐานว่าเป็นที่อยู่ของชุมชนมาแล้วเมื่อใดไม่ทราบได้    แต่ที่ชัดเจนคือที่ตั้งโบสถ์ บริเวณที่เขาเรียกว่า โคกโบสถ์ นั้น  มีอิฐดินเผากั้นฝาผนังโบสถ์ทั้ง ๔ ด้าน ขนาดกว้างประมาณ ๖-๘ เมตร ยาวไม่ต่ำกว่า ๑๒ เมตร ตอนแรกที่พบอิฐที่กั้นฝาผนังนั้นยังเป็นระเบียบอยู่สูงแค่เข่า (ตอนนั้นมีชาวบ้านไปจับจองที่เพื่อใช้ทำนาซึ่งเป็นที่รกร้าง) แต่พอถึงฤดูน้ำท่วมช้างมันขึ้นมาอยู่ มันหักมันสีจนพังยังคงเหลือแต่ฐาน กระเบื้องถ้วย จาน หม้อ เนียง ไห ไถนาไม่ค่อยได้ต้องเก็บไปกองไว้เป็นกองๆ จึงจะเอาวัวควายเข้าไปไถได้ ปัจจุบันทุ่งต้นข่อยเป็นที่รกร้างสาธารณะ บริเวณหมู่ที่ ๒ บ้านเสาธง-ล่องลม ตำบลบ้านขาว

๑.๒ ลักษณะบริบทพื้นที่

ตำบลบ้านขาวเป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ระหว่างริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา พื้นที่ริมฝั่งทะเลสาบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าพรุ   เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการทำประมงชายฝั่ง และการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนบ้านขาว แต่เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา คนบ้านขาวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากมีระบบน้ำชลประทานทุ่งระโนดจ่ายน้ำให้เป็นประจำ ประมงน้ำจืด และรับจ้างทำงานนอกบ้าน

ปัจจุบัน  ตำบลบ้านขาว มีการทำนา ทำสวนปาล์มในพื้นที่ป่าพรุ ดินเปรี้ยวไม่สามารถทำนาข้าได้  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของนายทุนจากต่างพื้นที่ที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินในป่าพรุซึ่งก็เป็นการสร้าอาชีพเสริมให้กับคนบ้านขาวและคนจากจังหวัดใกล้เคียง แต่ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงประกอบอาชีพทำนา บริเวณพื้นที่ราบด้านทิศตะวันออกของบริเวณที่ปลูกปาล์ม ตำบลบ้านขาวยังเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน  โดยเฉพาะต้นเสม็ด  และพืชน้ำ เช่น บัวชนิดต่างๆที่มีสีสันสวยงามตระการตา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกทั้งเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และนกต่าง ๆ หลายชนิด  ลำคลองมีการขุดลอกอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร ลำคลองสายนี้สมัยก่อน คือเส้นทางคมนาคมสำคัญของคนบ้านขาวและคนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ด้วยสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบของพื้นที่ดังกล่าว จึงทำให้ตำบลบ้านขาวมีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอำเภอระโนด นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มโฮมสเตย์เกิดขึ้นภายใต้การผลักดันโครงการของท่านนายก สาธิต  ไชยสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาวคนปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ตำบลท่าข้ามและขยายสู่เครือข่าย ๒๓ เกลอ(พศส.)และก็มีประชาชนจากหลายพื้นที่เข้ามาอาศัยทำอาชีพรับจ้างปลูกปาล์มและขายแรงงานในโรงสีข้าวในตำบลบ้านขาว  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวรับผิดชอบ  ๖ หมู่บ้าน   โดยมีประชากรที่รับผิดชอบ ๕,๑๓๖ คน  จำนวน ๑,๒๓๔ หลังคาเรือน มีโรงเรียนประถมศึกษา ๓ แห่ง วัด ๓ แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก ๓ แห่ง หน่วยพิทักษ์สัตว์ป่า ๑ แห่ง  สำนักงานชลประทานทุ่งระโนด ๑  แห่ง

                  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาว ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๓ บ้านขาว     ในปัจจุบันมีถนนหนทางที่เข้าถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวได้สะดวก อาคารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวขนาดทั่วไป ( ๑๕๐ ตารางเมตร ) ได้ต่อเติมและปรับปรุงชั้นล่างของอาคารเป็นพื้นที่สำหรับให้บริการประชาชน

๑.๓ ประวัติความเป็นมาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาว

                โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านขาว ตำบลบ้านขาว   อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา  เริ่มก่อตั้งครั้งแรก  เมื่อประมาณ  .. ๒๕๒๕ พร้อมบ้านพักเจ้าหน้าที่ จำนวน ๒ หลัง เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐผสมไม้ ขนาดประมาณ ๑๐๐ ตารางเมตร 

                ..๒๕๔๔ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวหลังใหม่ ทดแทนหลังเก่า แบบแปลน แบบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวทั่วไป ขนาด ๑๕๐ ตารางเมตร ใช้งบประมาณ ๑,๘๕๔,๐๐๐ บาท (เงิน หนึ่งล้านแปดแสนห้าหมื่นสี่พันบาทถ้วน) ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ เดือน มีนาคม พ..๒๕๔๕

                พ.ศ.๒๕๔๗ ได้งบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขต่อเติมชั้นล่าง จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท  ( เงินสามแสนบาทถ้วน ) และได้ใช้อาคารชั้นล่างสำหรับบริการสุขภาพ  จนถึงปัจจุบันนี้

๑.๔ ที่ตั้ง ขนาดและอาณาเขต


                โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวอำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา รับผิดชอบพื้นที่ จำนวน  ๖ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ – ๖ ตำบลบ้านขาวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  มีเนื้อที่ประมาณ  ๕๕,๖๒๕ ไร่หรือ ๘๙ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ  ดังนี้

                - ทิศเหนือ            จด     ตำบลควนชะลิก อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

                - ทิศใต้                   จด     ทะเลสาบสงขลา

- ทิศตะวันออก    จด     หมู่ที่ ๒ บ้านดอนแบก ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

- ทิศตะวันตก      จด     ทะเลน้อย/ป่าพรุ ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัพัทลุง

๑.๕ ลักษณะภูมิประเทศ

                เป็นที่ราบลุ่ม ใกล้ทะเลสาบสงขลาและมีป่าพรุทะเลน้อย พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งกำลังจะประกาศเป็นเขตแรมซ่าไซค์ มีบางส่วนเป็นเขตป่าพรุ ซึ่งติดกับพรุควนเคร็ง พรุทะเลน้อย มีนกน้ำอาศัยเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพและยังเหมาะแก่การท่องเที่ยวเป็นอย่างดี


 ๑.๖ ลักษณะภูมิอากาศ

                มีลักษณะอากาศเป็นแบบร้อนชื้น และแบบมรสุม มี ๒ ฤดู คือฤดูร้อนและฤดูฝน อยู่ใกล้        ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีลมพัดผ่านตลอดปี  อากาศไม่ร้อนจัด มีฝนตกตลอด ตามฤดูกาล

 ๑.๗ การคมนาคม

                การคมนาคมของประชาชนในการเดินทางระหว่างอำเภอ และระหว่างจังหวัด  ส่วนใหญ่เดินทางโดยรถโดยสารรับจ้างประจำทาง และรถยนต์รับจ้าง(ไม่ประจำทาง) โดยมีถนนสายหลัก ๒ สาย  คือ  ๑) สายนครศรีธรรมราช - สงขลา   ๒) สายระโนด พัทลุง

การคมนาคมภายในอำเภอ(ระหว่างตำบล / หมู่บ้าน) ส่วนใหญ่ เดินทางโดย รถยนต์รับจ้าง           (ไม่ประจำทาง) รถจักรยานยนต์รับจ้าง/ส่วนบุคคลโดยมีถนนสายหลัก ๕ สาย คือ  ๑) สายระโนด – ควนชะลิก 

การคมนาคมในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเดินทางโดย รถจักรยานยนต์รับจ้าง /ส่วนบุคคล  โดยมีถนนคอนกรีต  ถนนดินลูกลัง  ภายในหมู่บ้าน 

                สำหรับการเดินทางของประชาชน จากหมู่บ้านเพื่อมารับบริการที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาวตำบลบ้านขาวการคมนาคมสะดวก ใช้เวลาไม่มาก ส่วนใหญ่จะเดินทางโดย รถยนต์ส่วนบุคคลรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 

ระยะทางจาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาว ถึง.......


                - ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๘ สงขลา – นครศรีธรรมราช         ๒๗        กิโลเมตร


- โรงพยาบาลระโนด                                                                                    ๒๓             กิโลเมตร


                - สำนักงานสาธารณสุขอำเภอระโนด                                                       ๑๘              กิโลเมตร

                - โรงพยาบาลสงขลา                                                                                     ๑๑๐           กิโลเมตร

                - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา                                        ๑๑๙       กิโลเมตร

               - โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่                                                                         ๑๒๙          กิโลเมตร

                ๑.๘ แหล่งน้ำ      


                - ประปาหมู่บ้าน จำนวน   ๖ แห่ง

๑.๙ ด้านวัฒนธรรมประเพณี


                มีศูนย์สภาวัฒนธรรมตำบลบ้านขาว               จำนวน     แห่ง ตำบลบ้านขาวมีวัฒนธรรมประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบัน ดังนี้         

                . ประเพณีทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี


             ๒. ประเพณีทำบุญวันมาฆบูชา

๓. ประเพณีทำบุญตักบาตรวันว่าง ( วันสงกรานต์  ๑๓ เมษายน )

          . ประเพณีรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ ในสัปดาห์ผู้สูงอายุแห่งชาติ เดือนเมษายน ของทุกปี

๕. ประเพณีทำบุญวันวิสาขะบูชา

          . ประเพณีทำบุญวันเข้าพรรษา

                . ประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจะมีการทำบุญตักบาตรปีละ ๒ ครั้ง  ในวันแรม    ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ  เดือนสิบของทุกปี 

                . ประเพณีทำบุญลากพระ ในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หลังออกพรรษา มีกิจกรรมแห่เรือทรงพระทางบกและทางน้ำให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญตักบาตรและแขวนขนมต้ม มีการประกวดเรือทรงพระ แข่งตีโพน แข่งทำขนมต้ม แข่งขบวนกลองยาวและแข่งเรือพาย 

               . ประเพณีการทำบุญทอดกฐิน เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

             ๑๐. ประเพณีลอยกระทง ในวันขึ้น  ๑๕ ค่ำ  เดือน  ๑๒ ของทุกปี

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS
Read User's Comments0

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น